
เทรนด์มาแรงไม่มีตก! สำหรับ “พืชกัญชา” ที่หลังจาก อย. มีนโยบายประกาศปลดล็อกให้ทั้งส่วนลำต้น ราก และใบของพืชกัญชา พ้นจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จนมีผู้ทั้งประกอบการและหลาย ๆ คนเริ่มทำเมนูกัญชากันออกมามากขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว การปรุงอาหารด้วยกัญชา หรือผลิตภัณฑ์ที่ส่วนผสมของกัญชามันถูกกฎหมายแล้วจริง ๆ หรือไม่? วันนี้ Wongnai จะพาไปหาคำตอบกัน~
ประกาศ “ปลดล็อกกัญชา”

หลายวันที่ผ่านมานี้ เราได้เห็น “พืชกัญชา” ขึ้นมาอยู่ในฟีด Facebook อยู่บ่อย ๆ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Clubhouseก็นำประเด็นเกี่ยวกับกัญชามาพูดถึงกันเป็นจำนวนไม่น้อย โดยประเด็นหลัก ๆ ที่ทำให้กัญชากลับมามีกระแสอีกครั้ง ก็เพราะ อย. ได้ประกาศ “ปลดล็อกกัญชา” ส่วนของลำต้น ราก และใบให้พ้นจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5
ทำให้บางบริษัทอยากริเริ่มนำกัญชามาเป็นผลิตภัณฑ์ ไปยันผู้ประกอบการร้านอาหารและคาเฟ่ต่าง ๆ ก็เริ่มนำชื่อของกัญชามาใส่เมนูต่าง ๆ เพื่อเป็นกิมมิกเรียกลูกค้า จนนำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า “ปรุงอาหารด้วย “กัญชา” ถูกกฎหมายจริง ๆ หรือไม่?”
ปรุงอาหารด้วย “กัญชา” ถูกกฎหมายจริง ๆ หรือไม่?

ถ้าแปลตามประกาศของ อย. แบบง่าย ๆ ก็คือ แม้ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใยของกัญชา จะไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว แต่! สิ่งที่ทุกคนลืมก็คือ ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 378 ปี 2559 ที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร ปี 2522 เรื่องกำหนดพืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ ที่ห้ามใช้ในอาหาร ยังปรากฏชื่อของกัญชาว่า ห้ามใช้ในอาหารอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการแก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น
ข้อสรุปการปรุงอาหารด้วย “กัญชา”

สรุปได้ว่า การปรุงอาหารด้วยกัญชายังคงผิดกฎหมายอยู่! ยังใส่ไม่ได้ เพราะยังขัดกับประกาศฉบับเดิมและกฎหมายข้อนี้อยู่ ดังนั้นผู้ประกอบการของร้านอาหารและคาเฟ่ต่าง ๆ ที่ได้ผสมกัญชาลงในเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มไปแล้ว อาจจะถือเป็นการทำผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร ปี 2522 ได้ ซึ่งในอนาคตถ้าหากว่าปลดล็อกกฎหมายอาหาร หรือแก้ไขประกาศสาธารณสุขฉบับที่ 387 แล้ว ก็จะสามารถปรุงอาหารด้วยกัญชาและขายได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
ที่มา :
https://www.wongnai.com/news/legalization-of-cuisine-with-cannabis