ยา เป็นองค์ประกอบหลักในแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ สำหรับ กัญชา ซึ่งยังจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษแต่ได้รับความสนใจอย่างมากในทางการแพทย์ ด้วยมีสารสกัดที่มีสรรพคุณที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาต่อบางกลุ่มโรค โดยกรมการแพทย์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม สารสกัดกัญชา ได้ประโยชน์ในการรักษาซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ในภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปอดประสาทที่ใช้วีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล สารสกัดจากกัญชา น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติม ในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลไปทั่ว ผู้ป่วยที่ต้องดูและแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย สารสกัดกัญชา อาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เช่น การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ จำเป็นจะต้องคำนึงถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด การนำไปใช้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยไม่แนะนำให้เป็นทางเลือกแรกของการรักษาเบื้องต้น ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์ได้รับกัญชาคือผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยาอื่น ๆ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยาที่ร่างกายไม่สามารถยอมรับได้เท่านั้น
กัญชา จึงไม่ใช่ยาครอบจักรวาล หรือยารักษาโรคให้หายขาด ทางการแพทย์จึงยกให้กัญชาเป็น “ยาประเภทใหม่” ที่ยังคงต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปที่ยังไม่มีที่สิ้นสุด
ที่มา
• กรมการแพทย์, สารสกัดกัญชารักษาโรคได้ www.dms.moph.go.th/dmsweb/prnews/prnews24012019040115.pdf