ผลจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้ในหลายภาวะ อาทิ การบรรเทาอาการปวด หรือบรรเทาอาการจากโรคทางระบบประสาทและสมองซึ่งยาปัจจุบันไม่มีฤทธิ์ในการชะลอหรือรักษา แม้ยังอยู่ในช่วงที่ต้องศึกษาวิจัยอีกมากแต่ก็ค้นพบระบบการออกฤทธิ์ของกัญชาในร่างกาย หรือเรียกว่า Endocannabinoid system ซึ่งประกอบด้วย Canabinoid recepter หรือตัวรับสารกัญชาในร่างกาย (Cannabinoid, CB) มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ CB1 พบอยู่ในสมองและไขสันหลังส่วนต่าง ๆ ทั้งในปอด เส้นเลือด กล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร ไขมัน และอวัยวะเพศ CB2 พบในอยู่ในเซลล์เกลีย (Glial cell) ของสมองซึ่งทํางานร่วมกับเซลล์ประสาท การต้านการอักเสบในร่างกาย นอกจากนี้ อวัยวะในร่างกายยังมีส่วนที่มีทั้ง CB1 และ CB2 ประกอบด้วย ก้านสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน ตับ ไขกระดูก และตับอ่อน ดังนั้นกลไกในการออกฤทธิ์ของสารประกอบในกัญชาในร่างกายมีความแตกต่างกัน ผลการศึกษาพบว่า ตัวรับทั้งสองสามารถจับกับ THC ได้เป็นอย่างดี และเมื่อออกฤทธิ์ในสมองส่วน rewarding pathway จึงทําให้เกิดการมึนเมาและเสพติด ส่วน CBD ไม่จับกับตัวรับและลดการส่งสัญญาณของ CB1 ส่งผลให้สมองสั่งการให้เพิ่มการปล่อย GABA ซึ่งเป็นสารกดระบบไฟฟ้าของสมอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการช่วยลดปวด ควบคุมลมชัก และลดการกระวนกระวาย ตามหลักเภสัชจลนศาสตร์ อธิบายว่า การกระจายตัวของสารแคนนาบินอยด์ทั้ง THC และ CBD ในร่างกาย ออกฤทธิ์แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับวิธีได้รับยา ระยะเวลาออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับขนาดยา รูปแบบยาเตรียม และวิธีการให้ยา ทั้งทางปอด ปาก ลำไส้ หรือผิวหนัง เช่น …
การดูดซึมสารแคนนาบินอยด์จากการสูดไอระเหย ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นในเลือดสูงสุดไม่กี่นาทีและออกฤทธิ์ต่อสมองไม่กี่วินาที และออกฤทธิ์สูงสุดหลังจากผ่านไป 15-30 นาที และหมดฤทธิ์ภายใน 2-3 ชั่วโมง ขณะที่การกลืนยาแคปซูลผ่านดูดซึมทางลำไส้ การออกฤทธิ์ต่อสมองจะแสดงผลช้าลง 30-90 นาที และจะออกฤทธิ์สูงสุดหลังจากผ่านไป 2-3 ชั่วโมง ฤทธิ์จะมีผลอยู่ราว 4-12 ชั่วโมง
ที่มา
• ระบบกัญชาในร่างกาย (Endocannabinoid system)
https://www.กัญชาทางการแพทย์.com/2019/05/endocannabinoid-system-cb1-cb2.html
• หนังสือแนะนำการใช้กัญชาเพื่อบำบัดรักษาโรค @Bedrocan International
https://mdresearch.kku.ac.th/files/cannabis/MedicainalCannabisBook_v4.pdf