สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกัญชา เรียกว่า สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ ซึ่งมีสาร 2 ชนิดที่นิยมศึกษาวิจัย คือ
- สารเดลต้า-ไนน์- เตตร้าไฮโดรแคนนาบิดอล หรือทีเอชซี : delta-9-tetrahydrocannabinol (THC)
- สารแคนนาบิไดออล หรือ ซีบีดี : cannabidiol (CBD)
ความแตกต่างของสาร 2 ชนิดนี้ คือ…
THC มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สารเมา”
ส่วน CBD ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ทั้ง THC และ CBD มีงานวิจัยพบฤทธิ์ต้านมะเร็ง แต่เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยเชิงประจักษ์***ที่ชัดเจนในคนที่เป็นมะเร็ง
ดังนั้น สรุปว่า กัญชาไม่สามารถใช้รักษามะเร็งได้ (ในองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ณ ขณะนี้)
บทบาทของการใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็ง จึงมีความมุ่งหวังในแง่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเป็นหลัก คำว่าเพิ่มคุณภาพชีวิต อาจตีความหมายได้ว่า
- ลดความทุกข์ทรมาน จากตัวโรคมะเร็ง หรือลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด โดยเป็นผลจากการที่กัญชาสามารถบรรเทาอาการที่ตรงกับฤทธิ์ของกัญชา คือ
- ช่วยนอนหลับ
- บรรเทาปวด
- ช่วยเจริญอาหาร
- ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด
- ผู้ป่วยมะเร็งบางรายอาจมีอายุยืนยาวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้ยากัญชายังมีรายละเอียดและปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น
- ไม่ทราบขนาดยาที่ชัดเจน เนื่องจากยังขาดข้อมูลงานวิจัยและขึ้นอยู่กับการตอบสนองยาของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น การให้ยากัญชาในขนาดเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายหลับดี บางรายทำให้นอนไม่หลับ
- การตอบสนองของยากัญชาแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อการใช้ยาในขนาดสูงได้ เช่น ใช้มากแล้วมึน เมา จึงทำให้ขนาดยาที่ใช้ต่ำกว่าขนาดที่จะเห็นผลการรักษา เช่น ผู้ป่วยบางรายหวังผลเรื่องช่วยเจริญอาหาร หรือลดปวด แต่ก็ยังไม่เห็นผลจากการใช้กัญชา เพราะขนาดยาไม่สามารถปรับเพิ่มจนเห็นผลได้
- การใช้กัญชาบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง
มีงานวิจัยพบว่ายามอร์ฟีนสามารถบรรเทาอาการปวดได้ดีกว่ากัญชา แต่การใช้ยามอร์ฟีนในขนาดสูง อาจเพิ่มผลข้างเคียง ที่พบได้บ่อย คือ ท้องผูก ดังนั้นการใช้ยากัญชาอาจช่วยเสริมฤทธิ์บรรเทาปวดจากยามอร์ฟีน ทำให้ช่วยลดขนาดการใช้ยามอร์ฟีนลงได้ อย่างไรก็ตามยากัญชา ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้ยากัญชาในขนาดสูง และการใช้ยากัญชาที่มีสารเมาสูง ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตต่ำ อาจทำให้มึนงง วิงเวียน ช็อคหมดสติ สับสน ประสาทหลอน
- ผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดิน ไม่ได้มาตรฐาน คือ อาจมีสารปนเปื้อน อย่างโลหะหนักหรือยาฆ่าแมลง เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารเหล่านี้จากดินได้ดี ยาแต่ละขวด แต่ละหยด แต่ละครั้งที่ซื้อมาใช้ ให้ความแรงยาไม่เท่ากัน ทำให้ยากต่อการปรับยา
- หลักการใช้ยากัญชาคือ “start low, go slow, stay low” คือเริ่มใช้ขนาดยาต่ำๆ เช่น 1 หยดใต้ลิ้น วันละครั้ง และค่อยๆปรับยาเพิ่ม ทุก 3-4 วัน จนกระทั่งคงขนาดยาที่ต่ำสุดที่ให้ผล (เช่น ปวดลดลง กินข้าวได้ดีขึ้น หลับสนิท) แต่ไม่เกิดผลข้างเคียง (เช่น ไม่มึน ไม่เมา)
การใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็ง ควรอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ ที่ผ่านการอบรมการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
แหล่งอ้างอิง
- The American Cancer Society medical and editorial content team. Marijuana and Cancer [อินเตอร์เนต] [เข้าถึงเมื่อ 5 ธันวาคม 2562]. เข้าถึงได้จาก : https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/complementary-and-alternative-medicine/marijuana-and-cancer.html
- กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ [อินเตอร์เนต] [เข้าถึงเมื่อ 5 ธันวาคม 2562]. เข้าถึงได้จาก : http://webdms2.isgateway.com/backend//Content/Content_File/Old_Content/dms2559/download/Final_Guidance.pdf
ผู้เรียบเรียง เภสัชกรหญิงอาสาฬา เชาวน์เจริญ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร